หลักการการประเมินคุณภาพเสียง

ชุดเครื่องเสียงทุกชุด ต่างก็ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่เดียวกัน นั่นคือ "สร้างเสียง" (reproduce) ขึ้นมาใหม่ โดยอาศัย "สัญญาณเสียง" ที่เก็บบันทึกอยู่บนสื่อตัวกลาง (media) ชนิดต่างๆ อาทิ ม้วนเทปคลาสเส็ท, แผ่นซีดี, แผ่นเสียง และเทปโอเพ่นรีล เป็นต้นแบบ

ความมุ่งหวังในการออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละส่วนที่นำมาประกอบขึ้นเป็นชุดเครื่องเสียง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ "เครื่องเล่น" (source), ส่วนของ "แอมปลิฟาย" (amplify) และ ส่วนของ "ลำโพง" (loudspeaker) ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ต้องการทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นมีคุณสมบัติของความเป็น "มอนิเตอร์" อยู่ในตัว

ความเป็น "มอนิเตอร์" ก็คือ คุณสมบัติในการแสดงผลของเสียงที่ออกมาตรงตามต้นฉบับของสัญญาณเสียงที่ถูกบันทึกอยู่บนสื่อตัวกลางนั่นเอง

ส่วน "สัญญาณเสียง" ที่อยู่บนสื่อกลางต่างๆ ถูกบันทึกมาจากธรรมชาติด้วยไมโครโฟน (ในขณะที่บางเสียงอาจสร้างขึ้นมาจากคีย์บอร์ดและบันทึกลงเทปบันทึกเสียงผ่านทางสายสัญญาณ) ที่ผ่านความเห็นชอบของซาวนด์เอ็นจิเนียร์และศิลปิน ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานเพลงนั้นๆ แต่เนื่องจาก สภาพแวดล้อมในการบันทึกเสียงของเพลงต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกัน จึงทำให้เสียงของเพลงแต่ละเพลงที่เล่นผ่านชุดเครื่องเสียงออกมา มีคุณสมบัติอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1: "บุคลิกเสียง" (Sound Character) = เป็นลักษณะของเสียงที่ทำให้ผู้ฟังได้ยินแล้วบังเกิดความรู้สึก+อารมณ์ต่อเสียงนั้น อาทิ สด, นุ่มหวาน ฯ

2: "คุณภาพเสียง" (Sound Quality) = เป็นลักษณะของเสียงที่มีรายละเอียดเหมือนจริงตามธรรมชาติ แสดงให้ผู้ฟังรับรู้ได้ถึง "ต้นกำเนิด" ของเสียงนั้น ซึ่งมีระดับของความสมจริงหลายชั้น เริ่มจากรับรู้ได้ถึง "ลักษณะการกระทำของนักดนตรีที่มีต่อเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงนั้น" ไปจนถึง "ลักษณะแวดล้อมที่ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ทำการบันทึกเสียงนั้น"

แต่เนื่องจาก "การออกแบบ" + "คุณภาพวัสดุที่ใช้" ไปจนถึง "คุณภาพการผลิต" ของอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้นมีระดับมาตรฐานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้อุปกรณ์เครื่องเสียงบางส่วนในตลาดขาดคุณสมบัติของความเป็นมอนิเตอร์อย่างที่ผู้ออกแบบเครื่องเสียงชิ้นนั้นๆ ตั้งความหวังเอาไว้

เมื่อนำอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ขาดคุณสมบัติของความเป็นมอนิเตอร์มาจัดเป็นชุดเครื่องเสียง แม้จะเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งในชุดเครื่องเสียง อาทิ เครื่องเล่น, แอมปลิฟาย หรือลำโพง ถ้ามีแค่ตัวใดตัวหนึ่งที่ขาดคุณสมบัติความเป็นมอนิเตอร์รวมอยู่ในชุดเครื่องเสียง ก็จะทำให้เสียงที่ได้ออกมาจากชุดเครื่องเสียงนั้นมีลักษณะและคุณสมบัติ "ไม่ตรง" ตามต้นฉบับที่อยู่บนสื่อกลางนั้นๆ

"ดีสทอร์ชั่น" = ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตามที่เห็นจากภาพประกอบ หมายถึง ลักษณะของเสียงที่เกิดจากความไม่มีคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ในการเล่นเพลง อาทิเช่น เสียงฮัม, เสียงซ่า รวมทั้งเสียงวิทยุที่ดังออกมาจากลำโพงในขณะที่ยังไม่ได้เล่นเพลง ซึ่งเสียงฮัม, เสียงซ่า และเสียงวิทยุที่ออกมาจากชุดเครื่องเสียงนี้ ถือว่าเป็น "ดีสทอร์ชั่น" หรือเสียงรบกวนของระบบที่เราไม่ต้องการ เพราะเมื่อเราเล่นเพลงจากสื่อกลางต่างๆ เสียงที่เป็นดีสทอร์ชั่นเหล่านี้จะเข้าไปแทรกปนอยู่กับเสียงเพลงที่อยู่บนสื่อกลางนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเสียงเพลงขึ้น

ต้นตอของดีสทอร์ชั่นมีอยู่หลายสาเหตุมาก มีทั้งเกิดจากลักษณะการออกแบบของผู้ออกแบบที่ขาดทักษะและประสบการณ์, เกิดจากคุณภาพของอุปกรณ์คอมโพเน้นต์ที่ใช้ในการผลิต และอาจจะเกิดจากคุณภาพ+มาตรฐานในการประกอบ ฯลฯ

"คัลเลอร์" = เนื่องจากปัจจุบันนี้ ทั้งเทคโนโลยี่ในการผลิตอุปกรณ์คอมโพเน้นต์ที่ใช้ประกอบเครื่องเสียงแต่ละส่วนไปจนถึงมาตรฐานการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงได้ถูกพัฒนาสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก รวมถึงประสบการณ์ในการออกแบบเครื่องเสียงก็ได้ถูกเผยแพร่ออกมามากขึ้น ทำให้นักออกแบบเครื่องเสียงรุ่นใหม่ๆ สามารถค้นคว้าประสบการณ์เหล่านั้นมาศึกษาได้ง่ายขึ้น ทำให้ปัญหาในแง่ของของดีสทอร์ชั่นของอุปกรณ์เครื่องเสียงลดน้อยลงไปมาก

เมื่ออุปกรณ์เครื่องเสียงปลอดจากปัญหาดีสทอร์ชั่นไปแล้ว เสียงที่ได้ออกมาจากชุดเครื่องเสียงที่ปราศจากดีสทอร์ชั่นยังได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ในระดับที่สูงกว่าดีสทอร์ชั่นขึ้นมาขั้นแรกก็คือ "คัลเลอร์" ซึ่งเป็นลักษณะของเสียงที่ไม่ตรงตามต้นฉบับที่ถ่ายทอดมาจากมาสเตอร์เทป มีความผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ แต่ความผิดเพี้ยนนั้นไม่ได้เกิดจากความไม่ได้มาตรฐานของคอมโพเน้นต์ในตัวอุปกรณ์เครื่องเสียงเอง เป็นความจงใจ (หรืออาจจะตีความหมายผิด) ของคนออกแบบที่ทำการปรับจูนเครื่องเสียงที่ตนเองออกแบบให้มีลักษณะเสียงบางอย่างที่เป็นบุคลิกเฉพาะของตัวเองลงไป อาทิ ทำให้มีบุคลิกที่ "สด" กว่าปกติ บ้างก็อาจจะทำให้เครื่องเสียงของตนมีบุคลิกที่ "นุ่มหวาน" มากกว่าปกติ เป็นต้น ถือว่าเป็นแนวทางของผู้ออกแบบ คล้ายๆ กับการถ่ายภาพของช่างภาพที่อาศัยฟิลเตอร์ช่วยปรับแต่งภาพให้มีลักษณะที่ต่างไปจากธรรมชาตินั่นเอง

ลักษณะคัลเลอร์ของเสียงมีหลายระดับ บางเครื่องนั้นสามารถรับรู้ได้ง่ายถ้าเป็นคนที่มีประสบการ์ในการฟังที่เชี่ยวชาญมากพอ แสดงว่ามีคัลเลอร์สูง (อยู่ในช่วง A แถวล่างๆ) หรือมองอีกทางหนึ่งก็คือ เป็นเสียงที่ห่างจากมาสเตอร์เทปเยอะ ส่วนเครื่องที่มีคัลเลอร์น้อยมากๆ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการฟังของคนที่มีประสบการณ์สูงๆ จึงจะสามารถรับรู้ได้ แบบนี้ก็แสดงว่า เครื่องเสียงตัวนั้นให้เสียงที่เข้าใกล้มาสเตอร์เทปมาก (อยู่ในช่วง A แถวบนๆ ใกล้กับเส้นแบ่งแนว A-B)

"มาสเตอร์เทป" = ถ้าอุปกรณ์เครื่องเสียง "ทุกชิ้น" ที่ประกอบอยู่ในซิสเต็มที่ใช้เล่นเพลง มีคุณสมบัติของความเป็นมอนิเตอร์สูง (ในวงการเครื่องเสียงชอบใช้คำว่า "เป็นกลาง" นั่นเอง) อุปกรณ์เครื่องเสียงชิ้นนั้นจะให้เสียงที่ออกมา "ตรง" ตามลักษณะของสัญญาณเสียงที่บันทึกอยู่บนสื่อกลางนั้น ไม่มีทั้งดีสทอร์ชั่นและคัลเลอร์ปะปนเข้าไปอยู่ในน้ำเสียงที่ถ่ายทอดออกมา

ทำไมต้องอ้างอิง มาสเตอร์เทป.? เหตุผลก็เพราะว่า นับจนถึงวันนี้ จำนวนของเพลงที่เก็บมาสเตอร์ต้นฉบับไว้บนมาสเตอร์เทปมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนของเพลงที่เก็บอยู่บนมาสเตอร์รูปแบบอื่น ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องเสียงในปัจจุบันจำนวนหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดคุณภาพของเสียงได้สูงมากจนไปถึงระดับที่สามารถ "ฟ้อง" ข้อจำกัดบางประการของมาสเตอร์เทปออกมาได้แล้ว

"ธรรมชาติ" = คุณภาพเสียงระดับนี้ยังอยู่สูงเกินกว่าคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงในปัจจุบันจะสามารถให้ได้ ที่จริงแล้ว ข้อจำกัดมิได้อยู่ที่อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ในการ playback เท่านั้น แม้แต่อุปกรณ์เครื่องเสียงที่อยู่ทางฝั่งของโปรเฟสชั่นแนลที่ใช้ในขั้นตอนการบันทึกเสียงก็ยังไม่มีความสามารถมากพอในการ "จำลอง" เสียงในธรรมชาติมาได้ครบทุกอณู

ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี่ที่ใช้ในการออกแบบอุปกรณ์บันทึกเสียงที่ก้าวล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุปกรณ์ต้นทางที่ใช้ในการบันทึกเสียง อย่างเช่น ไมโครโฟน, ปรีไมค์ฯ, คอนโซล, A/D converter ฯลฯ ไปจนถึงเทคนิคการบันทึกเสียงที่ปรับเปลี่ยนจากพื้นฐานอะนาลอกมาสู่ดิจิตัล ทำให้ซาวนด์เอ็นจิเนียร์และบุคลากรในวงการบันทึกเสียงปัจจุบันสามารถเก็บบันทึกเสียงจากธรรมชาติเข้ามาไว้ในมาสเตอร์ได้ใกล้เคียงกับเสียงจริงๆ ที่ได้ยินในธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ยังปรากฏข้อถกเถียงกันอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิเช่น ลักษณะของเสียงที่ไมโครโฟนได้ยินเทียบกับลักษณะเสียงที่หูคนได้ยินในสภาพแวดล้อมเดียวกันนั้น อาจทำให้เกิดลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันได้ อันเนื่องมาจาก direction ที่ต่างกัน นอกจากนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตเพลงยังมีขั้นตอนอื่นๆ ที่ต่อเนื่องไปจากขั้นตอนการบันทึกเสียงอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการ edit เพื่อปรับแต่งลักษณะเสียงที่บันทึกมาให้เป็นไปตามที่ศิลปินต้องการนำเสนอ ตลอดไปจนถึงการ mixed เพื่อรวบรวมเสียงดนตรีทั้งหมดเข้าด้วยกัน ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนทำให้เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่ได้ยินในเพลงกับที่ได้ยินในธรรมชาติ มีความแตกต่างกัน

แต่เนื่องจาก ความผิดเพี้ยนใดๆ ในกระบวนการบันทึกเสียงตลอดไปจนถึงขั้นตอนการ mixed จนสำเร็จออกมาเป็นเพลงนั้นเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มคนที่อยู่ในฝั่งของ "ผู้สร้างงานเพลง" เปรียบเทียบก็เหมือนกับจิตกรที่วาดภาพ ซึ่งแม้ว่าต้นไม้ในภาพที่วาดจะดูไม่เหมือนต้นไม้จริงๆ ในธรรมชาติ แต่ผู้ชมที่ชื่นชอบศิลปินนั้นก็สามารถเสพงานศิลป์นั้นได้อย่างไม่รู้สึกขัดข้องใจ

Write a Comment