ชิปเซ็ตกับ RAM อะไรทำให้สมาร์ทโฟนเร็วกว่ากัน? พร้อมแนะนำวิธีเลือกซื้อมือถือ ::

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนได้กลายมาเป็นอุปกรณ์พกพาที่ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว ด้วยความสามารถรอบด้าน ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังให้ความบันเทิงได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญบนสมาร์ทโฟนจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ที่สามารถคาดคะเนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ แม้ยังไม่ได้ลองใช้งาน อีกหนึ่งส่วนสำคัญบนสมาร์ทโฟน ที่ทำงานเคียงคู่กับชิปเซ็ตประมวลผลก็คือ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ถือเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน

หลายคนที่อาจไม่สันทัดในด้านเทคโนโลยีมากนัก อาจจะแยกการทำงานของทั้งสองส่วนนี้ไม่ออก และอาจเกิดคำถามขึ้นว่า ในวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ "ชิปเซ็ตประมวลผล" และ "หน่วยความจำแรม (RAM)" ว่าทั้งสองอย่างนี้มีการทำงานอย่างไร และอะไรที่ทำให้สมาร์ทโฟนของเราใช้งานได้ลื่นไหลไม่สะดุด ถ้าหากพร้อมแล้วก็ขอเชิญทุกท่านติดตามชมไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

ชิปเซ็ตประมวลผล หรือ หน่วยประมวลผล (ในบทความนี้จะสื่อถึงการใช้งานบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น) ถือเป็นหัวใจสำคัญของสมาร์ทโฟน ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งแล้วนำไปประมวลผลให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น การเปิดกล้อง, การโทรศัพท์, การเข้าแอปพลิเคชัน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งชิปเซ็ตมรประสิทธิภาพสูงเท่าใด ก็จะยิ่งตอบสนองการใช้งานได้ดีมากเท่านั้น

ภายในชิปเซ็ตของสมาร์ทโฟนจะประกอบด้วยแกนการประมวลผล (Core) ที่มีหน้าที่หลักคือ การรับชุดคำสั่งจากผู้ใช้ แล้วนำไปปฏิบัติตาม ถ้าหากชิปเซ็ตรุ่นนั้นมีแกนประมวลผลเยอะ ก็ยิ่งใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในแต่ละแกนจะมีความเร็วในการประมวลผลแตกต่างกันออกไป โดยในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นการระบุจำนวนแกนประมวลผลด้วยคำเหล่านี้ คือ Quad-Core (4 แกน), Hexa-Core (6 แกน), Octa-Core (8 แกน) และ Deca-Core (10 แกน) โดยจำนวนแกนยิ่งเยอะก็ยิ่งทำงานได้มากขึ้น

ถ้าหากเปรียบเทียบในระดับความเร็วการประมวลผลเท่ากันที่ 1.0GHz และเป็นแกนรุ่นเดียวกัน การที่มีจำนวนแกนประมวลผลเยอะกว่า ช่วยให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าเท่านั้น เช่น แกนที่ 1 กำลังใช้งาน web browsing อยู่ ขณะที่แกนที่สองก็แสตนบาย เมื่อมีโทรศัพท์เข้า แกนประมวลผลตัวที่สองก็ทำหน้าที่กับส่วนโทรศัพท์ทันที เป็นต้น ดังนั้นการที่จำนวนแกนเยอะกว่าไม่ได้เป็นเพิ่มความเร็วในการใช้งานแต่อย่างใด

ซึ่งในปัจจุบันชิปเซ็ตบนสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างแบบ 8-Core ทั้งในระดับเรือธง ไปจนถึงระดับกลาง ส่วนระดับเริ่มต้นนั้นก็ยังมีแบบ 4-Core ให้ได้เห็นบ้าง โดยสิ่งที่เราต้องพิจารณาคือความเร็วในแต่ละ Core ซึ่งหากมีมาก ก็หมายถึงสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วกว่านั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างอื่นๆ ภายในชิปเซ็ตด้วย

หน่วยความจำแรม (RAM) เปรียบเสมือน "ระบบความจำ" ของมนุษย์ ที่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน โดยการทำงานของแรมก็คือ เมื่อผู้ใช้เปิดแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตามขึ้นมาหนึ่งโปรแกรม ตัวโปรแกรมนั้นจะถูกโหลดเข้าไปสู่หน่วยความจำแรม จากนั้นเมื่อผู้ใช้ปิดแอปพลิเคชัน ตัว RAM ก็จะเก็บ และพักข้อมูล ณ จุดที่ผู้ใช้กดออกเอาไว้ เมื่อผู้ใช้กลับเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันเดิมอีกครั้งก็จะสามารถใช้งานต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องโหลดโปรแกรมใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งจำนวนแอปพลิเคชันที่สามารถพักไว้ใน RAM ได้ก็ขึ้นอยู่ความจุของ RAM และตัวแอปพลิเคชันเองว่าต้องการใช้งานหน่วยความจำแรมสำหรับพักข้อมูลเป็นขนาดเท่าใด

จะเห็นว่าการทำงานของชิปเซ็ต และแรมนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะชิปเซ็ตทำหน้าที่ประมวลผล ส่วนแรมทำหน้าที่มอบพื้นที่ให้โปรแกรมใช้ประมวลผล, เข้าถึงข้อมูล หรือพักการใช้งาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แรมไม่สามารถประมวลผลได้เอง ได้แต่ส่งต่อข้อมูลให้กับชิปเซ็ตเท่านั้น แต่แม้ว่าการทำงานของ "ชิปเซ็ต" และ "แรม" จะแตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็ยังต้องใช้งานร่วมกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะแรมถือเป็นส่วนประกอบหลักสำหรับการใช้งานแบบ Multitasking ของสมาร์ทโฟนเลยทีเดียว

หากว่ากันตามตรงแล้ว สมาร์ทโฟนจะเร็ว และแรงได้ก็ ตัวชิปเซ็ตเองต้องประมวลผลได้รวดเร็ว และ RAM ก็ต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะส่งข้อมูลให้กับชิปเซ็ตได้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งทางทีมงานแนะนำให้พิจารณาที่ชิปเซ็ตเป็นหลัก เพราะ สมาร์ทโฟนบางรุ่นที่ให้ RAM มาเยอะ แต่หากใช้ชิปเซ็ตในระดับเริ่มต้น หรือระดับกลาง ในด้านการใช้งานจริง ก็อาจไม่เร็วเท่า รุ่นที่มี RAM ขนาดเท่ากัน แต่ใช้ชิปเซ็ตในระดับสูงกว่า อย่างเช่น Xiaomi Mi 9 Lite ที่ใช้ชิปเซ็ตระดับกลางอย่าง Snapdragon 710 จับคู่กับ RAM 6GB ทำคะแนนจากแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark 215,115 คะแนน ในขณะที่ Redmi K30 Pro ที่ใช้ชิปเซ็ตระดับเรือธงอย่าง Snapdragon 865 จับคู่กับ RAM 6GB สามารถทำผลทดสอบได้สูงถึง 586,004 คะแนน

และทางทีมงานขอสรุประดับของชิปเซ็ตในแต่ละแบรนด์ไว้ดังนี้

Snapdragon 8xx - ชิปเซ็ตระดับท็อปที่มีความเร็วแรง มักถูกใช้กับสมาร์ทโฟนระดับเรือธง และมือถือเกมมิ่งเป็นหลัก

Snapdragon 76x - ชิปเซ็ตระดับรองท็อปที่ปรับลดสเปกบางส่วนมาจากชิปรุ่นเรือธง แต่ยังคงจุดเด่นในเรื่องของความเร็วด้านการประมวลผล

Snapdragon 71x ถึง 73x - ชิปเซ็ตระดับกลางที่มีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไป

Snapdragon 4xx - ชิปเซ็ตสำหรับสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น เน้นในเรื่องของการประหยัดพลังงานเป็นหลัก

Exynos 990 ขึ้นไป และ Exynos 98xx - ชิปเซ็ตระดับท็อปสำหรับสมาร์ทโฟนระดับเรือธง ใช้ในสมาร์ทโฟน Samsung เป็นส่วนใหญ่

Exynos 980 - ชิปเซ็ตระดับรองท็อป ใช้กับสมาร์ทโฟนบางรุ่น

Exynos 96xx - ชิปเซ็ตระดับกลาง มักจะใช้กับสมาร์ทโฟน A Series เป็นหลัก

Exynos 7xxx - ชิปเซ็ตระดับเริ่มต้น มักจะใช้กับสมาร์ทโฟนราคาประหยัด

Dimensity 8xx - 1xxx ชิปเซ็ตตัวท็อปในระดับกลาง ใช้กับสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนบางรุ่น

Helio Gxx - ชิปเซ็ตที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ (Gaming) มักมีการใช้งานกับสมาร์ทโฟนระดับกลาง

Helio P9x - ชิปเซ็ตระดับกลางตัวท็อป มีจุดเด่นในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน (Premium Performace) เป็นหลัก

Helio P6x ถึง P7x - ชิปเซ็ตระดับกลาง

Helio P1x ถึง P3x - ชิปเซ็ตระดับเริ่มต้น

Kirin 9xx - ชิปเซ็ตระดับท็อปสุด ใช้งานกับมือถือเรือธง เช่น P Series และ Mate Series ของ Huawei และมือถือระดับรองท็อปบางรุ่นอย่างเช่น Huawei nova 5T

Kirin 7xx-8xx - ชิปเซ็ตระดับกลาง มักถูกใช้กับสมาร์ทโฟนตระกูล nova Series ของ Huawei

สำหรับท่านใดที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ ทางทีมงานก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้น และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านได้นะคะ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีค่ะ

Write a Comment